14 มี.ค. 2561
5993
Bounce Rate Vs. Exit Rate แตกต่างกันอย่างไร
อย่างที่ได้กล่าวไปในบทความที่แล้วเกี่ยวกับความหมายของ Bounce Rate แต่หลายคนก็อาจยังไม่เข้าใจความหมายนั้นมากพอและเกิดการสับสนเพิ่มขึ้นอีกระหว่าง Bounce Rate กับ Exit Rate ที่ไม่รู้ว่ามีความหมายและแตกต่างกันอย่างไร โดยเจ้าสองตัวนี้จะมีหน้าที่วิเคราะห์ว่าหน้าเพจนั้นๆ มีประสิทธิภาพหรือไม่ ถ้าหากเป็นเว็บไซต์ที่มีเนื้อหาดีและตรงกับความต้องการของผู้อ่าน เหล่านั้นจะส่งผลให้การปิดเว็บไซต์จะต่ำลงด้วย ทั้งนี้สิ่งที่คนส่วนใหญ่มักจะยอมรับร่วมกันคือ ยิ่งค่า Bounce Rate กับ Exit Rate น้อยเท่าไหร่ก็ยิ่งจะดีเท่านั้น
Bounce Rate คืออะไร
สำหรับความหมายของ Bounce Rate ในภาษาไทยนั้นใช้คำว่า อัตราการตีกลับ นั่นคืออัตราส่วนของการออกจากเว็บไซต์หลังจากที่มีผู้เข้าชมโดยเปิดเพียงแค่หน้าเพจนั้นหน้าเดียว และไม่ได้ทำสิ่งใดๆ บนหน้าเพจนั้น หรือหากนิยมง่ายๆ นั่นคือ การเข้าแล้วออกเลย ส่วนใหญ่ถ้าหาก Bounce Rate สูงนั้นจะหมายถึงผู้ที่เข้าชมอาจไม่ชอบเนื้อหาในเว็บไซต์ เนื้อหาไม่ตรงกับความต้องการจึงกดปิดออกไป
ตัวอย่างการคำนวณ Bounce Rate
สมมติว่าโพสต์ลิงก์บทความ Facebook จากนั้นมีคนเข้าลิงก์มาอ่านที่ 100 คน และมีคนจำนวน 60 คนที่กดออกจากเว็บไซต์โดยที่ไม่ไปหน้าอื่น ซึ่งสามารถคำนวณ Bounce Rate ได้เท่ากับ 60%
Exit Rate คืออะไร
สำหรับความหมายของ Exit Rate ในภาษาไทยนั้นใช้คำว่า อัตราการออก คือ เปอร์เซ็นต์ที่หน้าเพจนั้นเป็นหน้าสุดท้ายของ Session ก่อนที่ Session นั้นจะกดปิดออกจากเว็บไซต์ สิ่งนี้เป็น Metric ที่กล่าวควบคู่กับ Bounce Rate อยู่เสมอจึงมักทำให้สับสนระหว่างความหมายของสองตัวนี้ หรือหากนิยามง่ายๆ นั่นคือ หน้าสุดท้ายก่อนที่เราจะออกจากเว็บไซต์นั่นเอง
ตัวอย่างการคำนวณ Exit Rate
โดยการคำนวณนั้นจะคิดจากที่ผู้ชมกดปิดเว็บไซต์จากหน้านั้นเป็นหน้าสุดท้าย และเทียบกับจำนวน Pageview ทั้งหมดที่เกิดขึ้นในหน้านั้น สมมติว่าเพจ A นั้นมีการเปิดเข้าชมทั้งหมด 50 ครั้ง (Pageview = 50) และมีการออกจากหน้าเว็บไซต์ที่หน้าเพจ A ทั้งหมด 25 ครั้ง (Exit Rate = 25) ซึ่งสามารถคิดหา Exit Rate ได้เท่ากับ 50% แสดงให้เห็นว่าอัตราการปิดเว็บไซต์ในหน้าเพจ A มีจำนวนครึ่งหนึ่งเลยทีเดียว
ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับ Bounce Rate และ Exit Rate
- หลายคนอาจเข้าใจว่า Bounce Rate คือการกดเข้าเว็บไซต์และปิดอย่างรวดเร็ว ในความจริงแล้วไม่ได้เกี่ยวกับระยะเวลา เพราะหากอยู่ในหน้าเว็บนั้นๆ นานแต่ไม่ได้เปิดไปหน้าอื่นก็ทำให้เกิด Bounce ได้เหมือนกัน
- หากมีผู้ใช้งานเปิดแค่หน้าเว็บนั้นเพียงหน้าเดียว ไม่ได้เปิดไปที่หน้าอื่นๆ ต่อ ก็ไม่ได้หมายถึงว่าเป็นการ Bounce เสมอไป เพราะผู้ใช้อาจจะทำ Event บางอย่างในเว็บไซต์ก็เป็นได้ ถ้ามี Event เกิดขึ้น Google Analytics จะไม่นับเป็น Bounce
- หลายคนอาจเข้าใจผิดว่า Bounce Rate ยิ่งเยอะยิ่งไม่ดี ซึ่งนั้นก็อาจไม่จริงเสมอไป เพราะบางครั้งผู้ใช้อาจจะปิดหน้านั้นๆ ไปเพราะว่าได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์แล้ว (ไม่ได้หมายความว่าเว็บเราไม่ดี) แต่การทำให้ Optimize Landing Page ให้มี Bounce Rate ต่ำก็ถือว่ายังเป็นแนวทางที่ดีในการทำตลาดออนไลน์
- Exit Rate คืออัตราการปิด เมื่อมีคำว่าปิดแสดงว่าหน้าเพจนั้นจะมี Pageview เข้ามาเกี่ยวข้อง ดังนั้นโปรดจำไว้ว่า Exit Rate นั้นเกี่ยวข้องกับ Pageview เสมอ
- Bounce Rate และ Exit Rate สามารถเกิดขึ้นได้แม้ว่าผู้ใช้จะไม่ได้ทำการกดปิดเว็บไซต์ แต่มันเกิดขึ้นด้วยการที่ผู้ใช้ปล่อยหน้าจอทิ้งเอาไว้จน Session หมดอายุ
***ตัวอย่างการนับ Bounce Rate และ Exit Rate
สมมุติว่าเว็บไซต์แห่งหนึ่งมีการเข้าชมดังต่อไปนี้
การเข้าชมเว็บไซต์คนที่ 1: Page A > Page B > Page C > ออก
การเข้าชมเว็บไซต์คนที่ 2: Page B > Page A > ออก
การเข้าชมเว็บไซต์คนที่ 3: Page C > Page B > Page A > ออก
การเข้าชมเว็บไซต์คนที่ 4: Page C > Page B > ออก
การเข้าชมเว็บไซต์คนที่ 6: Page B > ออก
**การเข้าชมแต่ละครั้งมาจาก Device และ Browser ที่ต่างกัน
หน้าเพจ A มี Bounce Rate และ Exit Rate เท่าไหร่?
Bounce Rate (Page A) = 0% เพราะมีการเริ่มต้น Session ด้วยหน้าเพจ A แค่ครั้งเดียวและครั้งนั้นได้ทำการเปิดไปต่อยังหน้าเพจ B ด้วยจึงไม่นับเป็นการ Bounce
Exit Rate (Page A) = 66% เนื่องจากหน้าเพจ A มี 3 Pageviews และมีการปิดเว็บไซต์จากนี้ 2 ครั้ง
หน้าเพจ B มี Bounce Rate และ Exit Rate เท่าไหร่?
Bounce Rate (Page B) = 50% เพราะมีการเริ่มต้น Session ด้วยหน้าเพจ B ทั้งหมด 2 ครั้งและมี 1 ครั้งที่กดปิดในทันทีโดยไม่ได้เปิดเข้าไปยังหน้าอื่นๆ ต่อ
Exit Rate (Page B) = 40% เนื่องจากหน้าเพจ B มี 5 Pageviews และมีการปิดเว็บไซต์จากนี้ 2 ครั้ง
สรุปง่ายๆ คือ
Bounce Rate : อัตราตีกลับ / เปิดเข้าเว็บไซต์แค่หน้าเดียวแล้วออกจากเว็บไซต์เลย
Exit Rate : อัตราการออก / หน้าสุดท้ายก่อนออกจากเว็บไซต์
ที่มา : hooktalk