20 เม.ย. 2563
2803
COVID-19 สร้างโอกาสทองให้กับ ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ
แม้ว่าการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 จะส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในภาคธุรกิจที่ต้องเจอปัญหาเดียวกันก็คือ รายได้ลดลง ส่งผลให้ต้องมีการควบคุมต้นทุนอย่างหนัก แต่ท่ามกลางวิกฤตที่เกิดขึ้นมักจะมีสิ่งที่เรียกว่า “โอกาส” อยู่เสมอ
เมื่อแบรนด์โยกงบไปใช้กับสื่อดิจิทัล และคนอยู่กับบ้าน งดไปในสถานที่ที่มีผู้คนหนาแน่น ในขณะที่ห้างร้าน – สถานที่ต่างๆ ปิดให้บริการชั่วคราว ทำให้ผู้บริโภคทั่วโลกหันไปใช้จ่ายผ่านแพลตฟอร์ม “อีคอมเมิร์ซ” มากขึ้น รวมทั้งประเทศไทย
eMarketer รายงานว่าเมื่อผู้บริโภคต้องต่อสู้กับความน่าเบื่อของการอยู่แต่ในบ้าน ทำให้การใช้เวลาบนอินเทอร์เน็ตสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยในส่วนของการซื้อของออนไลน์ เพิ่มขึ้นถึง 600% ส่งผลให้ยอดออเดอร์ล้นทะลักไปยังแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซต่างๆ
ตัวอย่างประเทศที่ปริมาณ
การซื้อสินค้าออนไลน์โตพุ่งพรวด เช่น สหรัฐอเมริกา มีปริมาณการสั่งซื้อออนไลน์มากถึงขนาดที่ว่า “Amazon” หนึ่งในอีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่ระดับโลก ถึงกับต้องประกาศรับสมัครงานมากถึง 100,000 ตำแหน่งงาน ทั้ง Full Time และ Part Time ในสหรัฐฯ ท่ามกลางช่วงเวลาที่อัตราการว่างงานสูงขึ้น โดยประมาณการณ์ว่ามีชาวอเมริกันไม่ต่ำกว่า 6.6 ล้านคนที่กำลังประสบกับภาวะตกงาน
นอกจากนี้ได้ปรับค่าจ้างรายชั่วโมงเพิ่มขึ้นจนถึงเดือนเมษายน ทั้งในสหรัฐฯ แคนาดา และยุโรป โดยงบลงทุนสำหรับการจ้างงาน และการปรับเพิ่มค่าจ้างในครั้งนี้ “Amazon” ตั้งงบไว้ไม่ต่ำกว่า 350 ล้านเหรียญสหรัฐ
เช่นเดียวกับ “Walmart” ค้าปลีกยักษ์ใหญ่ของโลกที่มีทั้งรูปแบบ brick-and-mortar และอีคอมเมิร์ซ พบว่า Demand การซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงเวลานี้ เพื่อรองรับการให้บริการลูกค้า จึงได้เปิดรับสมัครพนักงานมากถึง 150,000 คน โดยเริ่มจากพนักงานชั่วคราวก่อน และหลังจากนี้อาจมีการปรับเปลี่ยนหลายตำแหน่งงานให้เป็นพนักงานประจำ ทั้งยังได้ประกาศให้โบนัสพนักงานประจำ 300 เหรียญสหรัฐต่อคน และพนักงาน Part Time 150 เหรียญสหรัฐต่อคน
จากข้อดีของโรคโควิด-19 ทั้งหมดที่ได้กล่าวมาทั้งต่อโลกและเศรษฐกิจ ล้วนแล้วแต่เป็นผลประโยชน์ระยะสั้นที่หากการแพร่ระบาดนี้จบลง สิ่งต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงก็อาจจะกลับไปเป็นเหมือนเดิม เพราะเหตุการณ์หรือพฤติกรรมที่เกิดขึ้น ณ ช่วงเวลานั้น ล้วนเกิดมาจาก “ความจำเป็น” จำเป็นที่ต้องอยู่บ้าน, จำเป็นต้องซื้อของออนไลน์เพราะกลัวการติดเชื้อ เป็นต้น
ด้วยเหตุนี้ทุกภาคส่วนรวมถึงตัวผู้บริโภคเอง จึงควรใช้โอกาสนี้หาแผนเสริมรักษาสิ่งดีๆ ที่เกิดขึ้นให้คงอยู่สืบต่อไป และจำเป็นต้องปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงใหม่อีกครั้งเมื่อภัยจากไวรัสสิ้นสุดลง
ที่มา : marketingoops