20 ส.ค. 2563
2387
ผลวิจัยเกี่ยวกับ Digital Platform ของธุรกิจอาหารไทย
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ และบริษัท วงใน มีเดีย จำกัด เปิดเผยผลการวิจัยเรื่อง Digital Platform ในธุรกิจอาหารกับโอกาสการอยู่รอด ชี้ Digital Platform มีส่วนเชื่อมโยงร้านอาหารกับลูกค้าได้จริง แต่ร้านอาหารระดับ SME ยังมีความท้าทายอยู่มาก โดยเฉพาะผลตอบแทนต่ำ ความเสี่ยงสูง และโอกาสการอยู่รอดที่ต่ำเมื่อเทียบกับธุรกิจอื่น
ได้มีบทวิจัยในหัวข้อเรื่อง “แพลตฟอร์มดิจิทัลกับโอกาสและความท้าทายของ SMEs ไทย: กรณีศึกษาธุรกิจร้านอาหาร โดยมีการประเมินข้อมูลจาก 3 แหล่ง คือ ข้อมูลสัมมะโนครัวจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ข้อมูลงบการเงินจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า และข้อมูลจัดเก็บโดย Wongnai ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ได้มีการสรุปเนื้อหาดังนี้
- ภาพรวมขนาด ที่ตั้ง และประเภทอาหาร
ร้านอาหารในประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นธุรกิจขนาดเล็ก (small) หรือเล็กมาก (micro) กว่า 38 เปอร์เซ็นต์เป็นร้านอาหารที่มีพนักงาน 1 คน และ 33 เปอร์เซ็นต์ มีพนักงาน 2 คน ด้านที่ตั้งกระจุกอยู่ตามหัวเมืองใหญ่และเมืองท่องเที่ยว ส่วนประเภทร้านอาหารจากข้อมูลของ Wongnai พบว่าร้านอาหารไทยมีสัดส่วนสูงสุด
การที่ร้านอาหารส่วนใหญ่เป็นร้านขนาด Small และ Micro จึงมีข้อจำกัดต่าง ๆ จากการขาดการประหยัดต่อขนาด (economies of scale) ที่กระทบต่อผลประกอบการอันจะกล่าวถึงต่อไป
- COVID-19 กระตุ้นการใช้ Digital Platform
Digital Platform กลายเป็นการตอบโจทย์พฤติกรรมการบริโภคในปี 2563 โดยปริยาย ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2563 ที่เกิดเหตุการณ์ PM2.5 ในเขตเมือง ซึ่งจากการวิจัยพบว่าผู้คนลดการเดินทางออกไปรับประทานอาหารนอกบ้านลง ต่อมาไม่นานเกิดการแพร่ระบาดของ COVID-19 ส่งผลให้เกิดการ Lockdown ซึ่งกระตุ้นการใช้งาน Digital Platform อย่างมาก
ทั้งนี้ นักวิจัยเผยว่าประโยชน์ของ Digital Platform มีด้วยกัน 2 ข้อ ได้แก่ การเชื่อมโยงผู้ซื้อและผู้ขาย กับการเป็นแหล่งข้อมูลสำหรับผู้ซื้อ นอกจากนี้ ยังพบว่าคะแนนรีวิวร้านอาหาร มีผลต่ออัตราการอยู่รอดของร้านอาหารอย่างมีนัยยะสำคัญ
ที่มา : pier